Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วิธีถนอมรักษาเล็บให้สวยงาม

“เล็บ” เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมบุคลิกภาพได้ไม่แพ้ส่วนอื่นๆ ในร่างกาย ลองจินตนาการดูว่า หากคุณเป็นผู้ที่มีใบหน้างดงาม หรือหล่อเหลา แต่เมื่อพิจารณาที่เล็บมือ หรือเล็บเท้า กลับพบว่ามีเล็บดำสกปรก หรือเล็บมีรูปร่างแปลกๆ ผิวขรุขระผิดปกติ ความรู้สึกชื่นชมที่จะได้จากคนรอบข้าง ก็คงลดลงไปอย่างแน่นอน ดังนั้น การดูแลเล็บให้สวยงาม จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม จริงๆ แล้ว ทุกคนสามารถมีเล็บที่สวยงามได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีการตกแต่งแต้มสีเลย เพราะในทางการแพทย์ถือว่า เล็บสวยหรือเล็บงาม หมายถึง เล็บที่สะอาด แข็งแรง และมีสุขภาพดี นั่นคือ ลักษณะของเล็บจะต้องไม่มีร่อง ไม่มีสีสัน ไม่มีหลุม และไม่มีสีที่ผิดแปลกไปจากปกตินั่นเอง แม้ว่าตามธรรมชาติ เล็บจะเป็นอวัยวะที่มีความแข็งแรงมาก เพื่อไว้คอยเป็นเกราะกำบังนิ้วมือ และนิ้วเท้า จากอันตรายต่างๆ แต่ก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลทะนุถนอมอย่างถูกต้องเช่นเดียวกับผิวหนังทั่วๆ ไป วิธีการดูแลเล็บให้สวยทำได้ไม่ยาก ถ้ามีความตั้งใจและเอาใจใส่อย่างจริงจัง ซึ่งการดูแลรักษาเล็บให้สวยคู่มือและเท้าไปอีกนาน ควรปฏิบัติดังนี้ * ไม่ควรใช้น้ำยาทาเล็บ หรือน้ำยาล้างเล็บบ่อยจนเกินไป เพราะนอกจากจะทำให้เล็บเสียได้แล้ว ผิวหนังที่อยู่ข้างเคียงอาจเกิดการอักเสบได้ ส่วนในรายที่มีอาการแพ้สีทาเล็บ ถ้ายังอยากทาเล็บอยู่ ควรไปปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เพื่อรับการทดสอบว่าแพ้สารตัวใดในยาทาเล็บ เพราะจะได้สามารถเลือกยาทาเล็บที่ไม่มีสารตัวนั้น

* พยายามหลีกเลี่ยงการรบกวนผิวหนังที่หุ้มโคนเล็บ เพราะหากหนังหุ้มโคนเล็บแข็งแรง เรียบสวย และไม่ฉีกขาดง่าย ก็จะดูว่าเล็บสวยไปด้วย ซึ่งสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง อาทิ ไม่ทำเล็บบ่อยเกินไป, ไม่ใช้เครื่องมือแข็งๆ เขี่ยหรือขลิบหนังหุ้มโคนเล็บออก เนื่องจากหนังหุ้มโคนเล็บ เป็นตัวป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าไปสู่จมูกเล็บ และเนื้อเยื่อรอบๆ เล็บ

* ก่อนการตัดแต่งเล็บ ควรแช่มือและเท้าไว้ในน้ำอุ่นสัก 10 นาที เพื่อให้เล็บอ่อนลงทำให้ตัดแต่งได้ง่าย ส่วนการตัดเล็บโดยเฉพาะเล็บเท้าให้ตัดเป็นแนวตรง และไม่ตัดจนสั้นเกินไป เพื่อป้องกันปัญหาเล็บขบ ซึ่งเป็นปัญหาที่สร้างความทุกข์ทรมานให้ไม่น้อย

* เล็บก็ไม่ต่างกับผิวหนังที่อาจแห้งได้ ดังนั้น ควรดูแลอย่าให้เล็บแห้งเกินไป เพื่อป้องกันเล็บเปราะและแตกหักง่าย ด้วยการแช่มือและเท้าในน้ำอุ่น ประมาณ 10 นาที แล้วทาครีมให้ความชุ่มชื้นทั้งมือและเท้า

* ในการถนอมเล็บ พฤติกรรมต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง
- การใช้เล็บแทนเครื่องมือบางชนิด เช่น ใช้เล็บหมุนไขแทนไขควง ใช้เล็บเป็นที่เปิดฝากระป๋อง ใช้เล็บหมุนโทรศัพท์ ใช้เล็บงัดแงะอะไรต่อมิอะไร เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เล็บฉีกขาดหรือแตกหักได้
- การใช้ปลายเล็บหยิบจับ ควานหา หรือโกยสิ่งของ โดยเฉพาะสิ่งที่วางอยู่บนพื้น ซึ่งจะทำให้เล็บหักได้ง่าย

- ไม่สวมถุงมือเมื่อต้องทำกิจกรรม ซึ่งอาจเป็นผลเสียต่อเล็บได้ เช่น การสัมผัสกับสารเคมีต่างๆ เช่น การใช้น้ำยาทำความสะอาดชนิดต่างๆ ซึ่งถ้าปล่อยให้เล็บสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง อาจทำให้เล็บเปราะหรือเสียได้ รวมทั้งผิวหนังข้างเล็บอาจเกิดการระคายเคืองจนอักเสบและติดเชื้อได้เช่นกัน นอกจากนั้น การทำสวน ขุดดิน หรือโกยดินด้วยมือเปล่า อาจทำให้เล็บกระทบกระแทกกับของแข็งต่างๆ หรือเศษฝุ่นดินอาจแทรกเข้าไปอยู่ในซอกเล็บ ซึ่งยากแก่การทำความสะอาด เป็นต้น

* ในการทำความสะอาดเล็บ หรือตัดแต่งเล็บ ควรใช้เครื่องมือที่สะอาด โดยเฉพาะการทำเล็บตามร้านเสริมสวยทั่วๆ ไป ควรเลือกร้านที่ดูว่าเครื่องไม้เครื่องมือสะอาดเพียงพอ เพื่อป้องกันปัญหาติดเชื้อที่อาจตามมาได้

* พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้มือและเท้าต้องถูกน้ำบ่อยๆ หรือแช่น้ำอยู่เป็นเวลานาน เนื่องจากจะทำให้ผิวหนังมีสภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อยีสต์ และเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะเชื้อรา ซึ่งปัญหาเชื้อราที่เล็บเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย และคนทั่วไปมักนึกถึงเป็นอันดับแรกๆ ของโรคที่เกี่ยวกับเล็บ ดังนั้น หากเล็บของคุณมีสีเขียวอมเหลือง แม้จะมีการตัด หรือตะไบให้เรียบร้อยแล้วก็ตาม อาจแสดงว่าเริ่มมีการติดเชื้อราที่เล็บแล้ว ควรรีบปรึกษาแพทย์ผิวหนังโดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง ก่อนที่เชื้อราจะกินเนื้อเล็บจนขยายตัวมากยิ่งขึ้นและยากต่อการรักษา เช่น เชื้อราทำลายผิวเล็บจนเล็บเปลี่ยนสีเป็นสีเหลือง น้ำตาล ขาวขุ่นเป็นหย่อมๆ ผิวเล็บไม่เรียบตรงแต่ขรุขระหรือยุ่ย เล็บแยกจากหนังใต้เล็บ เป็นต้น โดยในการรักษาแพทย์จะพิจารณาตามความมากน้อยของอาการ ซึ่งมีตั้งแต่ยารับประทาน ยาทา จนถึงการถอดเล็บ
เล็บ เป็นอวัยวะที่จัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของผิวหนัง ซึ่งคนมักจะมองข้ามความสำคัญและคุณค่าที่แท้จริง แต่เมื่อใดที่ปราศจากเล็บ หรือเกิดปัญหาขึ้นกับเล็บแล้วนั่นแหละ จึงจะนึกถึงความสำคัญของเล็บขึ้นมาได้ ดังนั้น การถนอมเล็บให้สวยอยู่เสมอ จึงเป็นความจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม และต้องเอาใจใส่เฉกเช่นเดียวกับการดูแลส่วนอื่นๆ ของร่างกายค่ะ ที่มา : สยามรัฐ

รายการบล็อกของฉัน